การประกันคุณภาพการศึกษาตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 เป็นการมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของการบริหารจัดการและดำเนินกิจกรรมตามภารกิจของสถานศึกษาทุกระดับ เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องและสร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการทางการศึกษา สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินคุณภาพภายในเสนอต่อสภาสถาบัน หน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาและเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา

            มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ดำเนินการพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพศึกษามาเป็นเวลานาน โดยในช่วงแรกได้จัดตั้งเป็นสำนักพัฒนาและบริการวิชาการ ทำหน้าที่พัฒนาระบบและดำเนินการเตรียมการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก และในปี 2551 สำนักพัฒนาและบริการวิชาการได้ยุบรวมงานประกันคุณภาพการศึกษากับงานพัฒนาหลักสูตรเข้าด้วยกัน และจัดตั้งเป็นสำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้มีการประกาศจัดตั้งสำนักประกันคุณภาพการศึกษา เป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยได้มีการกำหนดโครงสร้างการบริหารงาน ภารกิจ และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักประกันคุณภาพการศึกษา ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ฝ่ายพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาและฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักประกันคุณภาพการศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามภารกิจ บทบาท หน้าที่ของสำนักและให้อยู่ภายใต้การกำกับตรวจสอบของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและให้สำนักประกันคุณภาพการศึกษามีภารกิจ บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

  • บริหารจัดการด้านการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของหน่วยงานในมหาวิทยาลัย

  • ประสานงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาภายในกับหน่วยงานต้นสังกัด และกับหน่วยงานประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกของ สมศ.

  • ดูแลงานให้ความรู้ฝึกอบรม สร้างความเข้าใจด้านระบบการประกันคุณภาพการศึกษาให้กับหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยทั้งหมด กระตุ้นจูงใจให้บุคลากรทุกระดับภายในมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา

  • ติดตามผลสัมฤทธิ์ของการฝึกอบรม ให้ความรู้ มีการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

  • ตรวจสอบข้อมูลด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของทุกหน่วยงาน จัดทำการจัดการความรู้ด้านประกันคุณภาพการศึกษา การบริหารความเสี่ยง

          ในปัจจุบัน สกอ.ได้ดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์และตัวบ่งชี้ตามคู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับอุดมศึกษาพ.ศ. 2557 ซึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญของหน่วยย่อยของการอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ จึงได้กำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน 3 ระดับ คือ ระดับหลักสูตร ระดับคณะ และระดับสถาบัน โดยมีองค์ประกอบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในตามพันธกิจ 4 ด้านของสถาบันอุดมศึกษา และเพิ่มเติมด้านอื่นๆ ที่จำเป็น สำหรับการพัฒนาตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาภายในทั้งระดับหลักสูตร คณะ และสถาบัน ดำเนินการไปพร้อมกัน โดยระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในที่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเลือกใช้อาจเป็นระบบที่คณะกรรมการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษาเลือกใช้ อาจเป็นระบบที่คณะกรรมการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษาจัดทำขึ้น หรือเป็นระบบซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่สามารถประกันคุณภาพได้ตั้งแต่ระดับหลักสูตร คณะ และสถาบัน เช่น ระบบ AUN-QA หรือ ระบบ EdPEx หรือเป็นระบบที่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาพัฒนาขึ้นเอง โดยความเห็นชอบสภาสถาบันและนำเสนอคณะกรรมการประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษาพิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะใช้ระบบประกันคุณภาพใดๆ ต้องรายงานผลการประเมินคุณภาพภายในต่อต้นสังกัดและเปิดเผยต่อสาธารณชน ประกอบกับ สกอ. ได้มีการกำหนดเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thai Qualification Register : TQR) จากประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องข้างต้น ส่งผลให้บทบาทของสำนักประกันคุณภาพการศึกษาต้องมีการบริหารจัดการด้านการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งพัฒนาสู่มาตรฐานสากล


 อัพเดทข้อมูลเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565

ข้อมูลจาก : แผนปฏิบัติราชการประจำปี 2565 สำนักประกันคุณภาพการศึกษา มทร.ธัญบุรี