การประกันคุณภาพภายใน (Internal Quality Assurance)

การประกันคุณภาพภายในเป็นการสร้างระบบและกลไกในการพัฒนา  ติดตามตรวจสอบและประเมินการดำเนินงานของสถานศึกษาให้เป็นไปตามนโยบาย  เป้าหมายและระดับคุณภาพ  ตามมาตรฐานที่กำหนดโดยสถานศึกษาและหรือหน่วยงานต้นสังกัด  โดยหน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษากำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  มีการจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายในเสนอต่อสภาสถาบันหน่วยงานต้นสังกัด  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อพิจารณาและเปิดเผยต่อสาธารณชน  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก ในปีการศึกษา 2557 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้พัฒนาเกณฑ์การประเมินและตัวบ่งชี้ขึ้นมาใหม่ และให้ใช้ในการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ประจำปีการศึกษา 2557 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  1. ระดับหลักสูตร
  2. ระดับคณะ
  3. ระดับสถาบัน

การประกันคุณภาพภายนอก (Externat Quality Assurance)

การประกันคุณภาพภายนอก เป็นการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา  เพื่อให้มีการติดตามและตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ ซึ่งประเมินโดย “สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเรียกชื่อย่อว่า“สมศ.” พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างน้อย  1  ครั้ง  ในทุกรอบ  5  ปี  นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน รูปแบบและวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ซึ่งมีหลักการสำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้

1) เป็นการประเมินเพื่อมุ่งใหมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการตัดสิน  การจับผิด หรือการให้คุณ –ให้โทษ

2) ยึดหลักความเที่ยงตรง เป็นธรรม โปร่งใส มีหลักฐานข้อมูลตามสภาพความเป็นจริง(evidence– based) และมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้(accountability)

3) มุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมและประสานงานในลักษณะกัลยาณมิตรมากกว่าการกำกับควบคุม

4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพและการพัฒนาการจัดการศึกษาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

5) มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางการศึกษากับจุดมุ่งหมายและหลักการศึกษาของชาติตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ให้เอกภาพเชิงนโยบาย แต่ยังคงมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ โดยสถาบันสามารถกำหนดเป้าหมายเฉพาะ  และพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เต็มตามศักยภาพของสถาบันและผู้เรียน

ความสัมพันธ์ระหว่างการประกันคุณภาพภายในและการประเมินภายนอก

การประกันคุณภาพภายใน เป็นการตรวจสอบ การควบคุม การติดตาม ประเมินผลคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการศึกษาจากภายในโดยบุคลากรของสถาบันการศึกษานั้นเอง หรือโดยหน่วยงาน ต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการศึกษานั้น ผลจากการตรวจสอบคุณภาพภายใน คือมีการวางระบบงานที่มีระบบและกลไกชัดเจนมีการดำเนินงานรวมทั้งมีการพัฒนาฐานข้อมูลในด้านต่างๆส่วนการประกันคุณภาพภายนอกเป็นการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา การติดตามการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถาบันการศึกษาซึ่งกระทำโดยสำนักงานภายนอกหรือผู้ประเมินภายนอกเพื่อมุ่งให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสถาบันการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น

  • การประเมินคุณภาพภายใน จะเน้นการตรวจสอบและการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาด้านต่างๆ ของปัจจัยนำเข้า (Input) และกระบวนการ (Process) ส่วนการประกันคุณภาพภายนอกจะเน้นการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาในด้านต่างๆ ของผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome)  ดังนั้นการประกันคุณภาพภายในย่อมส่งผลถึงการประกันคุณภาพภายนอกโดยตรง
  • การประเมินคุณภาพภายนอก จะใช้ตัวบ่งชี้ตามมาตรฐานต่างๆ ในการประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันการศึกษารวมทั้งการตรวจเยี่ยมสถาบัน ซึ่งในการประเมินต้องคำนึงถึงปรัชญา พันธกิจ และลักษณะการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันการศึกษา โดยสถาบันการศึกษาจะต้องมีการจัดทำรายงานประจำปี เตรียมเอกสาร ข้อมูลในด้านต่างๆ รวมถึงข้อมูลตามตัวบ่งชี้ และรายงานการประเมินตนเองอย่างน้อย ๓ ปีการศึกษา โดยสามารถจัดทำในรูปแบบ CD – ROM หรือ E – SAR (Electronic SelfAssessment Report) เพื่อพร้อมรับการประเมินภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือ สมศ. ต่อไป

กล่าวได้ว่า การประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอกจะมีความเกี่ยวข้องคือการประกันคุณภาพภายในย่อมส่งผลถึงการประกันคุณภาพภายนอกโดยตรง ตามตารางต่อไปนี้

 


อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)