ความหมายและความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ได้กำหนดจุดมุ่งหมายและหลักการของการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นคุณภาพและมาตรฐาน โดยกำหนดรายละเอียดไว้ในหมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย 1.ระบบการประกันคุณภาพภายใน 2.ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก

 

ความหมายของการประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติของสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการทางการศึกษา ทั้งผู้รับบริการโดยตรง ได้แก่ ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้รับบริการทางอ้อม ได้แก่ สถานประกอบการ ประชาชน และสังคมโดยรวม

 

ทำไมต้องมีการประเมินคุณภาพ

การที่เราจะทราบว่าสิ่งใดมีคุณภาพ มีขีดความสามารถในการใช้งาน ดีในระดับใดนั้น คงต้องมีการวัด และการประเมินในสิ่งนั้นๆ อย่างมีกระบวนการที่ถูกต้องเป็นสากล การศึกษาก็คล้ายกัน ต้องมีการนำเสนอให้ทราบว่ามีคุณภาพอย่างไร อะไรคือตัวชี้วัด วัดได้อย่างไร วัดได้แค่ไหน ใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนวัด มีการนำเสนอโดยวิธีการอย่างไร เมื่อใด เพื่อให้ผู้ใช้มีความมั่นใจว่าสิ่งนั้นเขาสามารถ   นำไปใช้ได้ตรงตามความต้องการ และไห้ประโยชน์กับผู้ใช้มากที่สุด

การประเมินคุณภาพเป็นเบื้องต้นมีดังนี้
1. การประเมินเป็นการให้ข้อมูลที่ช่วยให้มีการปรับปรุงตนเองให้ทำงานได้ดีขึ้น
2. การประเมินเป็นงานที่ต้องทำในวงจรการทำงานอยู่แล้ว ไม่ใช่การเพิ่มภาระ
3. การประเมินเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
4. การประเมินเป็นงานของทุกคน ไม่ใช่การสร้างผลงานทางวิชาการของใคร
5. การประเมินเป็นงานที่ต้องทำด้วยใจเป็นกลาง สะท้อนผลงานตามความเป็นจริง
6. การประเมินเป็นงานที่ทุกคนต้องทำด้วยความเต็มใจ และอยากทำ
7. การประเมินเป็นงานที่ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักวิธีการ ผู้ทำต้องมีความรู้ในการประเมิน
8. การประเมินเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันทำให้เสร็จ
9. การประเมินเป็นงานที่ต้องเอาผลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง
10.การประเมินเป็นงานที่ต้องเผยแพร่ผลการประเมินให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบ
(คู่มือการประเมินภายในฯ สถาบันส่งเสริมการประเมินฯ ส านักนายกรัฐมนตรี 2543)

 

ความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษา มีความสำคัญ 3 ประการ คือ

1.   ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลคุณภาพการศึกษาที่เชื่อถือได้ เกิดความเชื่อมั่นและสามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน

2.   ป้องกันการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเกิดความเสมอภาคในโอกาสที่จะได้รับการบริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง

3.   ทำให้ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษามุ่งบริหารจัดการศึกษาสู่คุณภาพและมาตรฐานอย่างจริงจัง ซึ่งมีผลให้การศึกษามีพลังที่จะพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

 


สำนักประกันคุณภาพการศึกษา มทร.ธัญบุรี