เมื่อเอ่ยถึงการบริการวิชาการแก่สังคม ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาคงรู้จักเป็นอย่างดี เพราะการบริการวิชาการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ระบุอยู่ภายใต้กฎกระทรวงว่าด้วย ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ข้อที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน โดยพิจารณาจากระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาของคณะวิชาและสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยคำนึงถึงองค์ประกอบคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา 9 องค์ประกอบ โดยมีการบริการวิชาการแก่สังคม เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ ดังนั้น การบริการวิชาการแก่สังคมจึงเป็นหน้าที่จำเป็นที่สถาบันอุดมศึกษาจะต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามกฎหมายนั้น
                  อย่างไรก็ตามนอกจากระเบียบของกฎกระทรวงฯดังกล่าวแล้ว การบริการวิชาการแก่สังคมของสถาบันอุดมศึกษา ยังมีเงื่อนไขอื่นๆที่ผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาให้บริการวิชาการแก่สังคมอยู่ด้วย เป็นต้นว่า ความจำเป็นเชิงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการวิจัยที่จะต้องใช้สังคมหรือชุมชนเป็นเครื่องมือหรือหน่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งด้านสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ เพื่อแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการในแต่ละด้าน
                 บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาเองที่มีจิตสาธารณะหรือมีความสมัครใจในการเสียสละความรู้ ประสบการณ์ เวลา รวมทั้งสิ่งต่างๆที่พอเสียสละได้ เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งในการบริการวิชาการแก่สังคมด้วยเช่นกัน
                 นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษาเองยังมีแนวนโยบายให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆกับสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนคือกิจกรรมการออกค่ายในรูปแบบต่างๆ เป็นต้นว่า ค่ายอาสาพัฒนา ค่ายเยาวชน ค่ายวิชาการ ค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมที่กล่าวมานี้ได้กลายเป็นเวทีให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกตำราหรือนอกห้องสี่เหลี่ยม อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย
                จะเห็นได้ว่าภาพของการบริการวิชาการแก่สังคมของสถาบันอุดมศึกษาที่ปรากฏให้เห็นในข้างต้นนั้นเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงเจตนาที่ดีของสถาบันอุดมศึกษาที่มีต่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรยกย่อง แต่คำถามก็คือว่าเจตนาที่ดีดังกล่าวสถาบันอุดมศึกษาสามารถเป็นผู้กระทำการที่สอดคล้องกับเจตนาที่ดีนั้นหรือไม่? สำหรับผู้เขียนขอตอบว่าไม่ทั้งหมด เพราะเจตนาที่ดีนั้นเปรียบเสมือนอุดมการณ์ซึ่งมีไม่บ่อยครั้งนักที่จะสอดคล้องกับโลกของความเป็นจริง ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าสถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของสังคมที่เกิดขึ้นจริงได้เลย หรือหากมีก็น้อยมาก ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า สถาบันอุดมศึกษามุ่งที่จะสร้างแผนและกิจกรรมบริการวิชาการแก่สังคม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์มากเกินไป ทั้งที่เป็น พ.ร.บ.การศึกษา กฎกระทรวง รวมทั้งระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาเอง ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวคาดหวังผลการดำเนินงานเพื่อความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์นั้นๆ จึงทำให้ผลการดำเนินงานถูกบีบคั้นให้ออกมาในรูปของเอกสารรายงานเชิงวิชาการในมุมหนึ่งอาจจะเป็นผลดีในเชิงระบบเพื่อการตรวจสอบคุณภาพการศึกษา แต่อีกมุมหนึ่งนั้นแรงบีบคั้นดังกล่าวอาจทำให้บุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาจะต้องคิดหนักในการจัดทำเอกสารรายงาน จนบางครั้งที่เอกสารรายงานไม่ได้เป็นผลมาจากการปฏิบัติงานจริงที่เกิดขึ้น แต่เกิดจากการจัดทำขึ้นเองโดยไม่มีมูลความจริงหรืออย่างที่เรียกๆว่า“นั่งเทียนเขียน” และบ่อยครั้งที่ไปคัดลอกจากแหล่งอื่นๆ แล้วมาดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้เป็นเอกสารรายงานของหน่อยงานตนเอง
                และปัจจุบันจะพบว่าสถาบันอุดมศึกษามุ่งผลิตบัณฑิตที่อยู่ในกรอบของหลักสูตรเฉพาะด้าน เชิงวิชาชีพมากเกินไป จนทำให้นักศึกษาถูกจำกัดการเรียนรู้ให้อยู่ในกรอบของหลักสูตรเอง อีกทั้งยังอยู่ในกรอบมหาวิทยาลัยหรือในห้องเรียนเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวข้องกับสังคมอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของวิธีการเรียนการสอนอย่างบูรณาการร่วมกับชุมชนหรือสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสมที่ให้ชุมชนเป็นฝ่ายถูกกระทำหรือเป็นผู้ถูกชี้นิ้วให้ทำ ที่สำคัญหลักสูตรหรือรายวิชาด้านสังคมนั้นสถาบันอุดมศึกษายังให้ความสำคัญไม่มากนักและมีแนวโน้มว่าจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถสร้างให้บัณฑิตมีความสามารถเฉพาะด้านในเชิงวิชาชีพสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของประเทศได้ ทำให้ผู้เรียนมีจำนวนน้อยลง และเมื่อเป็นเช่นนี้สถาบันอุดมศึกษาเองโดยเฉพาะภาคเอกชน (รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหลายแห่ง)ให้ความสำคัญทางด้านสังคมน้อยมาก เพราะไม่สามารถเก็บเงินค่าเล่ากับนักศึกษาได้เป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับหลักสูตรเฉพาะด้านเชิงวิชาชีพ เช่น หลักสูตรบริหารธุรกิจ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้สถาบันอุดมศึกษาจึงขาดทั้งความรู้และทักษะการทำงานด้านสังคม รวมทั้งขาดความจริงจังที่จะบริการวิชาการแก่สังคมอย่างจริงใจได้
ที่มา : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=387269
สำนักประกันคุณภาพการศึกษษ มทร.ธัญบุรี